ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า การศึกษาในปีที่ผ่านมา ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี คุณภาพการศึกษาน่าเป็นห่วง อีกทั้ง นโยบายการศึกษาที่ออกมา จับไม่ติดถึงประเด็นปัญหา สาเหตุที่ปี 2566 การศึกษาตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติเมื่อปี 2557 ที่ประกาศว่าจะปฏิรูปการศึกษา เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไป 6-5 คน แต่กลับไม่ได้ทำ และไม่แก้อะไรเลย ทำให้การศึกษาเจอวิกฤต และเจอการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โหมกระหน่ำอีก 3 ปี
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า “ทั้งนี้ มีตัวบ่งชี้ที่บอกให้เราพิจารณาคือ 1.ผลการสอบประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA 2022 ที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ตกต่ำทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ทำให้เห็นว่าการศึกษาเกิดการด้อยคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำของคะแนนระหว่างสถานศึกษาในเมือง และชนบท มีมากกว่า 200 เท่า ที่รัฐบาลออกมาบอกว่าอีก 3 ปี คะแนน PISA ต้องดีขึ้นนั้น คะแนนต้องดีขึ้น เพราะผลการสอบครั้งนี้ต่ำที่สุดแล้ว สิ่งที่ค้นพบอีกอย่าง คือเวลามีปัญหาคะแนนตก จะตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาแก้ไขปรับปรุง แต่ไม่เกิดผลการเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่วนข้าราชการที่รับผิดชอบดูแลการศึกษา ต้องเปลี่ยนแปลง และทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้น กลับไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ มองว่าข้าราชการต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ให้สูงกว่านี้”
“2.เด็กออกกลางคันเพิ่มมากขึ้น โดยแต่ละปีมีเด็กออกกลางคันประมาณ 6-7 หมื่นคน แต่ปี 2564 มีเด็กออกกลางคัน 237,707 คน และปี 2565 เด็กออกกลางคัน 100,000 คน ปัจจุบันมีเด็กที่ตามกลับมาเรียน และเสี่ยงหลุดจากการศึกษาประมาณ 1.2 ล้านคน จะเห็นว่าอัตราการออกกลางคันเพิ่ม 2-3 เท่า เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศกำลังสูญเสียเด็กที่มีคุณภาพทั้งรุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่รุนแรงในรอบ 10 ปี และ 3.นโยบายการศึกษาที่ออกมารับช่วงต่อรัฐบาลต่อรัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่ตรงกับวิกฤตปัญหาที่หมักหมมยาวนาน และไม่ตรงกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น เปรียบเหมือนการศึกษาอยู่ในภาวะโคม่า แต่กลับใช้ยาพาราแก้ปัญหา ผ่านมากี่รัฐบาล นโยบายไม่เคยตรงปกกับปัญหาที่มีอยู่ มีนโยบายออกมาเป็นครั้งคราว มีรัฐมนตรีใหม่ๆ เข้ามาฝึกงาน ดังนั้น จะเห็นว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานในปีนี้ สถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง”
“ส่วนการศึกษาระดับอุดมศึกษา ลุ่มๆ ดอนๆ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็ขึ้นๆ ลง แต่ภายในอุดมศึกษาเต็มไปด้วยเทคนิค วิธีการ โดยมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ มีเป้าหมายสำคัญแค่ 2 เรื่องเท่านั้น คือ 1.การจัดอันดับมหาวิทยาลัย และ 2.การตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารต่างชาติ แต่ภายในมหาวิทยาลัยกลวงเชิงวิชาการ บุคลากรในมหาวิทยาลัยเริ่มเสื่อมคุณภาพ มีแต่ระบบเทคนิค หาวิธีการที่จะนำเสนอเพื่อให้ตนเองอยู่รอด เช่น การซื้องานวิจัยในวารสาร ทำให้เห็นว่าเหล่านี้คือเทคนิค วิธีการ เพื่อให้ได้เงินรางวัล เพื่อให้ได้ตีพิมพ์ และต้องการเอาชนะเพื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยได้ และ 2.จะเห็นว่างานวิจัยของไทยพุ่งขึ้นถึง 19 เท่า มีงานวิจัยใหม่เฉลี่ย 5 วัน ต่อ 1 งานวิจัย และเฉลี่ยแล้วมีงานวิจัย 60 บทความต่อปี มีผลมาจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ทำให้บุคลากรพยายามสร้างผลงานมากมาย”
“ทั้งนี้ จะพบว่าข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยแทบทุกปี ต้องผิดพลาด มีแก้ไข และต้องยกคะแนนให้ แต่ปีนี้หนักที่สุด เพราะข้อสอบวิชาเฉพาะ TPAT1 การวัดความถนัดทางวิชาชีพแพทย์ จัดโดยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) พบว่าข้อสอบฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นข้อสอบเชาว์ปัญญา 45 ข้อ มีส่วนหนึ่งที่คล้ายกับข้อสอบ The BioMediacal Admissions Test (BMAT) เรื่องนี้มองว่าไม่ใช่แค่ นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานอนุกรรมการสอบคัดเลือก กสพท ที่ควรลาออกเท่านั้น แต่ควรจัดการกับคนที่แปลข้อสอบด้วย”
ศ.ดร.สมพงษ์ยังกล่าวอีกว่า “นอกจากนี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ต้องล่างานวิจัยโดยที่ไม่สนใจ เพราะต้องเอาตัวงบประมาณเป็นหลัก ซึ่งพบข้อมูลน่าตกใจว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เขียนโครงการเสนองบวิจัยประมาณ 1,000 คน แต่เสนอผ่าน ได้ทุน และทำงานวิจัยที่มีคุณภาพได้ประมาณ 300 คนเท่านั้น หรือ 30% เท่านั้น ทำให้เห็นว่าการสร้างอาจารย์รุ่นใหม่ ไม่มีการสนับสนุนส่งเสริมเลย อีกปัญหาที่พบ คือสถาบันอุดมศึกษาไปเชื่อมโยงกับองค์กรอาชญากรรมขนาดเล็ก”
“ลักษณะการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา ภาพรวมมีภาวะวิกฤตหนักหน่วง และหดหู่ นโยบาย และคนที่เข้ามาจัดการดูแลของ ศธ.และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กลับน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง มองว่าปีนี้จะพบภาวะวิกฤตการศึกษาไทย ทั้งเชิงโครงสร้างระบบ หลักสูตร การเรียนรู้ การวัดผล บุคลากรทั้งในระดับโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ที่กำลังต่อสู้กับการจัดทำเอกสาร ภาระงานที่หนักอึ้ง แต่ภาระงานนั้นไม่ตอบโจทย์คุณภาพของผู้เรียนแม้แต่น้อย ขณะนี้วิกฤตการศึกษาถูกมองด้วยสายตาทางการเมืองที่แปลกๆ หรือด้วยความรู้สึกที่เข้ามาเพื่อได้โควต้าทางการเมือง มากกว่าที่จะจัดการปัญหาของประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง”