การเข้ามาของ “ฉางอัน” จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ในประเทศไทย อย่างไรบ้าง? ยังไม่มีใครตอบได้ ท่ามกลางการคอยของแฟนๆ ChanganAuto Thailand ถึง รุ่นรถ Changan และราคาที่เปิดขายในประเทศไทยเร็วๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็น Deepal SL03 และ S7
แต่นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองอย่างมาก หลัง “ฉางอัน” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ยักษ์ใหญ่ที่สุด ในกลุ่มยานยนต์ของจีน ตัดสินใจ เลือกไทยเป็นฐานการผลิต EV เพื่อตั้งเป้าส่งออกไปทั่วโลก ผ่านการลงทุนมากกว่า 9.8 พันล้านบาท
ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เผยว่า การเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้นของนักลงทุนจีน ที่ล่าสุด ได้เบียดแซงนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น สะท้อนภาพจีนกำลังให้ความสำคัญ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของไทย ที่มีผลต่อการเติบโตของธุรกิจต่างๆ
โดยเฉพาะ การเข้ามาลงทุน ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) ซึ่งคาดการณ์ว่า ปี 2566 จะมีมูลค่าการลงทุนในกลุ่มดังกล่าวมากกว่า 50,000 ล้านบาท
สำหรับ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน ได้ประเดิม ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน เฟสแรก มูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิต รถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV)
ประวัติ ฉางอัน (Changan) ผู้ผลิตรถ รายใหญ่ของจีน
โดย “ฉางอัน” เป็นแบรนด์รถจีน ที่ก่อตั้งมาแล้วกว่า 153 ปี และเป็นผู้นำเริ่มแรก ใน อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีประสบการณ์ผลิตและพัฒนารถยนต์หลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารไปจนถึงรถบรรทุกเชิงพาณิชย์
ในภาษาจีน CHANG แปลว่า “ยาวนาน” และ AN แปลว่า “ความปลอดภัย” เมื่อนำคำมาต่อกัน CHANGAN จึงมีความหมายว่า ความปลอดภัยอย่างยาวนาน โดยตั้งความหวังว่าจะนำความปลอดภัยและความสุขมาสู่ทุกคน
ฉางอัน ได้ ผลิตยานยนต์รุ่นแรกในปี 2502 ชื่อว่า Changjiang Type 46 เป็นยานยนต์ผลิตรุ่นแรกของจีน ซึ่งต่อมาในปี 2555 บริษัทได้จับมือกับ Suzuki, Ford และ Mazda ทำให้ฉางอันได้รับเทคโนโลยีจนสามารถผลิตรถยนต์รุ่นต่างๆ ได้แก่ Suzuki Swift, Ford Focus และ Mazda 2 เพื่อขายในตลาดในประเทศจีนเอง และในปี 2560 ฉางอัน ประกาศว่าจะผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2568 โดยจะยุติการผลิตและจำหน่ายรถยนต์แบบเผาไหม้เชื้อเพลิง รวมถึงรถยนต์ไฮบริด
ในทุกๆ วัน มีผู้ซื้อรถฉางอัน กว่า 8,500 คันทุกวัน โดยมีศูนย์บริการและการขายทั่วโลกกว่า 6,000 แห่งใน 60 ประเทศ รวมถึงทีมงานมืออาชีพกว่า 150,000 คน
ทั้งนี้ เส้นทางการลงทุนครั้งแรกที่ยิ่งใหญ่นอกประเทศจีน โดยเลือกมาปักหมุด สร้าง โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV PHEV REEV (Range Extended EV) และแบตเตอรี่ เพื่อส่งออก อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้
โดย ฉางอัน ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ ด้วย กำลังการผลิต 100,000 คันต่อปีในระยะแรก และจะเพิ่มกําลังการผลิตขึ้นเป็น 200,000 คันต่อปีในระยะที่ 2 เพื่อเป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวาส่งขายทั่วโลก
ทั้งนี้ บีโอไอ ประเมินว่า การลงทุนในประเทศไทยของฉางอัน แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในตลาดยานยนต์และบรรยากาศการลงทุนของเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นการประกาศที่ชัดเจนว่าไทยมีโอกาสเติบโตและเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญ
นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามจากการเข้ามาของ ฉางอัน กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยและการยกระดับภาคการผลิตของประเทศ