“ลุงพล” คุก 20 ปี ศาลชั้นต้นตัดสินคดี “น้องชมพู่”
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก “ลุงพล” 20 ปี คดี […]
สะเทือนกลางกรุง กับเหตุการณ์กราดยิงในห้างพารากอน ย่านประทุมวัน ในช่วงเย็นของวันพุธที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา จากฝีมือของเด็กชายวัย 14 ปี ที่แอบพกพาอาวุธปืนประดิษฐ์บรรจุกระสุนจริง เข้าไปกราดยิงผู้บริสุทธิ์ภายในห้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และเจ็บ 5 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนและลูกจ้างสาวพม่า
หลังเกิดเหตุได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุเอาไว้ได้ พร้อมปืนกล็อก 9 มม. ชุดจับกุมนำตัวไปสอบปากคำเพื่อหามูลเหตุจูงใจก่อนเข้าเคลียร์พื้นที่จุดเกิดเหตุ จากการสอบสวนพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ เบื้องต้นทราบว่าเจ้าตัวเป็นเด็กติดเกม เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการติดต่อผู้ปกครองเข้าร่วมสอบปากคำและหาข้อมูลเหตุจูงใจจากการลงมือครั้งนี้
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เปิดเผยว่าเรื่องสอบปากคำต้องขอไม่เปิดเผยรายละเอียดเนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเยาวชน ทั้งนี้ ได้นำตัวไปยัง สน.ปทุมวัน เพื่อสอบปากคำพร้อมสหวิชาชีพ ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุไม่ขอเปิดเผย ทั้งนี้ขณะเข้าจับกุมได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยผู้ก่อเหตุยอมมอบตัว จากการตรวจสอบพบประวัติรักษาจิตเวชอยู่ รพ.ราชวิถี เบื้องต้นผู้ก่อเหตุยังไม่สามารถสอบปากคำได้ เนื่องจากมีอาการเบลอ ระบุมีคนมาพูดว่าต้องยิงคนนู้นคนนี้
ประเด็นเรื่องของติดเกม นำมาซึ่งการพูดถึงและเกิดเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในสังคม ว่าการติดเกมจะเป็นแรงจูงใจที่ให้เด็กชายรายนี้ ทำการพกปืนเข้ามากราดยิงผู้คนได้ขนาดนี้จริงหรือไม่ จริงอยู่ที่การเล่นเกม ผู้เล่นจะมีอารมณ์ร่วมไปกับเกมยามที่ชนะหรือแพ้ บางกรณีนำมาซึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อถูกห้ามเล่น และบางครั้งนำมาซึ่งการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบเกมได้เช่นกัน ส่งผลให้ก่ออาชญากรรมหรือก่อปัญหาที่รุนแรงในสังคมมาก่อนหน้านี้หลายครั้ง
รศ.นพ. ชาญวิทย์ พรนพดล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เคยให้สัมภาษณ์กับทาง ช่อง PPTV เอาไว้อย่างน่าสนใจ ถึงประเด็น เด็กที่เล่นเกมสามารถออกไปก่ออาชญากรรมได้จริงหรือไม่
รศ.นพ. ชาญวิทย์ กล่าวว่าการเล่นเกมเป็นกระบวนการเรียนรู้ของตัวเด็กเอง เป็นสื่อการเรียนรู้อย่างหนึ่งของเด็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนที่เล่นเกมแล้วจะต้องทำตามแบบในเกม ต้องเป็นเด็กที่พร้อมที่จะทำอยู่แล้ว คือมีความเป็นอาชญากรน้อยอยู่ในตัว เป็นเด็กที่มีความเสี่ยงต่างๆ ที่ถูกหล่อหลอมให้โตขึ้นแล้วพร้อมที่จะกระทำความผิด ซึ่งแต่เดิมอาจไม่รู้วิธีการที่จะทำ แต่พอมาเล่นเกม โดยเฉพาะเกมที่รุนแรง ก็อาจทำให้เขาค้นพบวิธีได้ ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนที่เล่นเกมแล้วจะกลายเป็นแบบนั้น
ปัจจัยที่ทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบเกม เริ่มจากพันธุกรรม ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยเกิดจากพ่อแม่ที่มีประวัติอาชญากรรมอยู่ เช่น พ่อแม่ติดยาเสพติด พ่อแม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ก็มีความเสี่ยงที่จะถ่ายทอดออกมาทางพันธุกรรม ทำให้เด็กได้รับยีนตัวนั้นมาส่วนหนึ่ง บวกกับปัจจัยการเลี้ยงดู สังคม สิ่งแวดล้อม ที่หล่อหลอมเขามาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งโต เด็กที่ถูกปล่อยปละละเลย ถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำทารุณกรรม สังคมรอบตัวโหดร้ายกับเขามาตั้งแต่เด็ก ขาดการฝึกอบรม ด้านศีลธรรมและจริยธรรม ขาดความรัก ขาดความรู้สึกนับถือในตัวเอง ขาดความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า หรือเด็กที่มีปัญหาทางด้านการเรียน สังคม ไม่สามารถคบเพื่อนตามปกติได้ ซึ่งเหล่านี้คือปัจจัยภายนอกที่สะสมมา จนกระทั่งมาเจอกับปัจจัยสุดท้ายคือตัวเกม ทำให้เขาตอบสนองกิเลสหรือความต้องการของเขาในทางที่ผิด ก็เลยก่ออาชญากรรมขึ้นมา
รศ.นพ. ชาญวิทย์ บอกต่อว่าเกมที่รุนแรงในต่างประเทศส่วนใหญ่จะได้เรทติ้ง M คือผู้ที่สามารถเล่นได้จะต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไป แต่ในประเทศไทยยังไม่มีใครมาดูแลตรงนี้ ระบบเรทติ้งเกมก็ยังไม่เข้มแข็ง ระบบตรวจสอบก็ยังไม่เข้มแข็ง การตรวจสอบในร้านเกมที่ปล่อยให้เด็กเล่นก็ยังไม่เข้มแข็ง ผู้ปกครองก็ไม่รู้จักว่าเด็กเล่นเกมอะไร บางคนก็ไม่เคยมาสนใจดูแลว่าลูกของตัวเองเล่นเกมอะไร เรทติ้งอะไร ซึ่งความจริงแล้วเด็กไทยเป็นกลุ่มที่เปราะบางและตกเป็นเหยื่อได้ง่าย เนื่องจากช่องโหว่ต่างๆ ของระบบตรวจสอบ ทั้งนี้ทั้งนั้นการให้ความรู้ ตรงส่วนนี้จึงต้องได้รับการดูแลและแก้ไขขนานใหญ่ สำหรับเกมที่มีความรุนแรงนั้น มีผลงานวิจัยออกมายืนยันแล้วว่าเด็กที่ชอบเกมที่รุนแรง มีแนวโน้มที่จะแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง
ส่วนเด็กที่สามารถแยกแยะได้นั้น แล้วแต่คน ไม่ขึ้นกับอายุ ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู ในความเป็นจริงยากมากที่จะรักษาเด็กติดเกมที่เข้าขั้นรุนแรงสักคนหนึ่ง เหมือนรักษาคนที่ติดยาเสพติดรุนแรง ให้เน้นที่การป้องกันดีกว่า ซึ่งอย่ารอให้ถึงขั้นนั้น ต้องมีการให้ความรู้ตั้งแต่ต้น มีการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวเด็ก พ่อแม่ อาจารย์ที่โรงเรียน และรัฐบาล
ขณะที่วิธีการการป้องกัน รศ.นพ. ชาญวิทย์ บอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องแก้ปัญหาทางด้านครอบครัวและสังคม คือปัญหาอาชญากรรมจะเกี่ยวโยงกับปัญหายาเสพติด ท้องในวัยรุ่น เด็กขาดแรงจูงใจในการเรียน เป็นปัญหาสังคมที่ทับถมมายาวนาน ต้องไปแก้ที่สถาบันครอบครัว แก้ที่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมด้านบวก แก้ในเรื่องของสถาบันการศึกษา โดยการป้องกัน พ่อแม่ควรถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองก่อนซื้ออุปกรณ์ที่เล่นเกมได้ให้กับลูกชิ้นแรก
1.พ่อแม่จะต้องตระหนักว่าลูกของเราทุกคนในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะติดเทคโนโลยี ติดโซเชียลมีเดีย หรือติดเกม เพราะฉะนั้นก่อนที่จะให้อุปกรณ์ไอทีชิ้นแรกกับลูก ต้องตระหนักด้วยว่าสมควรที่จะให้หรือไม่
2. พ่อแม่ต้องถามตัวเองว่ามีความรู้ไอทีที่เท่าทันลูกไหม ตามลูกทันหรือไม่ เพราะว่าพ่อแม่จะต้องรู้วิธีใส่พาสเวิร์ด จะต้องรู้วิธีเช็คสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อลูก จะต้องรู้วิธีการกำหนดเวลา รู้จักวิธีตั้งค่าความปลอดภัย แก้ไขโปรแกรมต่างๆ
3. พ่อแม่ต้องถามตัวเองว่าฝึกวินัยให้กับลูกตั้งแต่เล็กหรือเปล่า มีการกำหนดเวลาไหม มีการมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ลูกก่อนจะเล่นเกมไหม มีการกำหนดกติกาไว้ชัดเจนหรือเปล่า ซึ่งน้อยครอบครัวมากที่จะกำหนดกติกาตรงนี้
4. พ่อแม่ต้องถามตัวเองว่าเคยปลูกฝังให้ลูกสามารถหาความสุขจากสิ่งอื่นในชีวิตจริงได้หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าพอเด็กมองไปรอบตัว มีอย่างเดียวที่ทำให้เขาเพลิดเพลินมีความสุขคือเกม ทั้งนี้พ่อแม่ต้องปลูกฝังให้เขารู้สึกสนุกสนานกับธรรมชาติหรือสิ่งอื่นรอบตัวที่ไม่ใช่อุปกรณ์ไอที
ส่วนประเด็นเด็กติดเกมถือเป็นปัญหาทางจิตไหม รศ.นพ. ชาญวิทย์ กล่าวว่าปัจจุบันจัดว่า การติดเกมเป็นการเสพติดอย่างหนึ่งทางพฤติกรรม เป็นปัญหาทางพฤติกรรม เหมือนกับคนที่ติดเหล้า ติดการพนัน ติดเซ็กส์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเด็กที่ติดเกมนานๆ สามารถที่จะมีอาการทางจิตได้ ซึ่งอาการทางจิตที่เจอบ่อยๆ ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า ที่เคยมีข่าวว่าเด็กติดเกมพอถูกห้ามก็ฆ่าตัวตาย เพราะน้อยใจพ่อ จากการที่เล่นเกมหนักอาจทำให้มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นอยู่ พอมีอะไรมากระทบก็อาจทำให้คิดสั้น บางทีนอกจากจะทำร้ายตัวเองแล้ว ยังอาจทำร้ายคนอื่นได้ เพราะว่าการควบคุมตัวเองจะเสียไป ระเบิดอารมณ์ได้ง่าย ไม่ยั้ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นกับทุกคน ต้องมีเหตุปัจจัยอื่นด้วย