ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “อุดม สุขทอง” ผู้อำนวยการส่วนรักษาการ ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง ได้ออกมาแชร์เรื่องราว ที่สร้างแรงบันดาลใจไม่น้อย ของอดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอบติดอัยการผู้ช่วย
โดยระบุว่า “ความพยายามไม่เคยทรยศใคร ขอแสดงความยินดีกับ คุณผดุงเกียรติ พรหมแก้ว อดีต จนท.รปภ.ม.รามคำแหง (สังกัด อผศ.) มีความพากเพียรพยายามจนสอบติดอัยการผู้ช่วย (รุ่น 64) สนามใหญ่ ลำดับ 47 ขอจงมีความเจริญก้าวหน้า และผดุงความยุติธรรมให้สมกับความคาดหวังของประชาชนต่อไป”
ขณะเดียวกัน ทางเพจ “ท่านครับ”ก็ได้ออกมาแสดงความยินดี พร้อมแชร์เคล็ดลับ การเตรียมความพร้อมของอดีตรปภ.จนสอบอัยการจนสำเร็จ
โดยสิ่งแรกที่ทำ คือ วางแผนการใช้ชีวิต ด้วยการใช้เวลากลางคืนในการอ่านหนังสือ ในช่วงทำงาน เพราะเป็นเวลาเงียบสงบ เหมาะแก่การอ่านหนังสือ
“จากการทำงานรปภ.ดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนได้ทำตามแผนได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีเวลามากในการอ่านหนังสือไม่เครียดกับงานที่ทำและมีสมาธิอยู่กับการอ่านหนังสือ
Q : ทำไมจึงต้องทำงานนี้?
A : ผู้เขียนวางแผนการอ่านหนังสือในแบบของตัวเอง ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วต้องใช้เวลามากในการทำตามแผนที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องหางานที่ให้เวลาที่เหมาะสมแก่การนั้น
Q : แผนการอ่านคือ?
A : 1.การเตรียมตัวสอบ ผู้เขียนใช้หนังสือหลักในการอ่านในแต่ละวิชาเพียง 1 เล่ม เพราะเนื้อหามีเยอะหลายวิชาและเพื่อลดความสับสนในเนื้อหา(อาจเป็นชีทติวสรุปก็ได้เพราะง่ายต่อการทำความเข้าใจโครงสร้างเนื่องจากมีการสรุปมาครั้งหนึ่งแล้ว)
การอ่านถ้าเป็นไปได้ให้อ่านโดยวิธีการออกเสียงให้ได้ยินเสียงตัวเอง เพื่อให้สมองได้รับความรู้ 2 ทางคือตาและหู อีกทั้งยังเป็นการฝึกการถ่ายทอดข้อมูล เป็นประโยชน์ตอนเขียนตอบข้อสอบอีกด้วย
2.อ่านรอบแรกให้อ่านแบบคร่าวๆ เพื่อทราบโครงเรื่องทั้งหมด
3.การอ่านครั้งที่ 2 ให้จับประเด็นละเอียดของแต่ละเรื่องโดยใช้ปากกาไฮไลท์ ไฮไลท์ข้อความทั้งหมดที่เห็นว่าสำคัญและจำเป็นต้องทำความเข้าใจหรือจดจำ(อาจไฮไลท์มากหน่อยแต่จำเป็นต้องทำ เพราะข้อความที่ไม่ถูกไฮไลท์จะถูกตัดทิ้งไปในขั้นตอนนี้)
4.พิมพ์ตัวบทกฎหมายขึ้นมาเป็นของตัวเอง โดยตัดข้อความที่ไม่สำคัญออกเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ
5.เขียนหรือพิมพ์ข้อความที่ไฮไลท์สรุปทั้งหมด ลงในตัวบทกฎหมายที่เป็นของตัวเอง
6.การทำสรุปนี้อาจมีเนื้อหาส่วนที่ยังไม่เข้าใจหรือไม่ได้คำตอบ ให้จดเป็นคำถามไว้ทันทีรวบรวมไว้ แล้วนำไปวิเคราะห์กับเพื่อนที่เรียนด้วยกันหรือสอบถามจากอาจารย์ ถ้าได้คำตอบ ก็ให้นำมาเพิ่มเติมในภายหลัง
7.อ่านหนังสืออื่นเพิ่มเติมเช่นกฎหมายพิสดารต่างๆ แล้วทำเหมือนข้อ 3. เปรียบเทียบดูว่าสรุปของเรายังขาดเนื้อหาส่วนใดไป เนื้อหาส่วนไหนยังไม่มีในสรุป ให้เอาเนื้อหาส่วนนั้นเพิ่มไปในสรุปตามข้อ.5
8.ทำข้อ 1-6 ทั้งกฎหมายสี่มุมเมืองและกฎหมายพิเศษที่ใช้ในการสอบ แล้วปริ้นท์สรุปดังกล่าวเข้าเล่มเพื่อความสะดวกในการอ่าน สุดท้ายเราจะได้ตัวบทกฎหมายซึ่งมีเนื้อหากฎหมายอยู่ด้วยเป็นของเราเอง
9.ใช้สรุปตัวหลังนี้ในการอ่านเตรียมสอบ และอ่านซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันสอบ ถ้าพบประเด็นเพิ่มเติมสามารถจดด้วยปากกาเพิ่มเข้าไปได้
10.เมื่ออ่านสรุปของตัวเองครบแล้ว จะไปตามอ่านฎีกาน่าสนใจในเพจต่างๆ แล้วเทียบดูว่ามีฎีกาเรื่องไหนที่เรายังไม่มีหรือไม่เคยอ่าน ก็ให้พิมพ์สรุปแบบสั้นๆมาเก็บไว้ใช้อ่านเล่นก่อนถึงวันสอบ ฎีกาเหล่านี้มักจะถูกนำมาเป็นข้อสอบประมาน 1-2 ข้อ
การมีสรุปตัวบทกฎหมายและเนื้อหาเป็นของตัวเองข้างต้นดีอย่างไร? ทำให้ผู้เขียนสามารถทบทวนเนื้อหาที่ใช้สอบทั้งหมดได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องไปเปิดอ่านหนังสือเล่มใหญ่หนาๆ ถ้าไม่มีสรุปนี้ สำหรับตัวผู้เขียนเอง ไม่สามารถทบทวนเนื้อหาทั้งหมดได้ภายใน 1 สัปดาห์ก่อนสอบ เนื่องจากเนื้อหามีเยอะมาก
11.โดยหลัก การทำข้อ 1-7 จะทำให้เราจำตัวบทกฎหมายได้มากพอสมควรอยู่แล้ว แต่การสอบจำเป็นต้องแม่นยำในตัวบทมากกว่านั้น จึงจำเป็นต้องท่องตัวบทด้วย
11.1 การท่องตัวบท ตัวบทไหนที่จำยากหรือจำไม่ได้ ให้ใช้อารมณ์ความรู้สึก และตัวเลขเชื่อมโยงกับความทรงจำในการจำ เช่น อารมณ์ตลก กลัว ตกใจ หรือใช้วิธีใดก็ตามที่กระทบต่อความรู้สึก เช่นอาจแต่งเป็นกลอนก็ได้ จะทำให้เราจำได้ดีมาก เพราะสมองจะจดจำถ้อยคำที่ประกอบด้วยอารมณ์ได้มากกว่าถ้อยคำอย่างเดียวเป็นอย่างมาก(วิธีการนี้ถูกเขียนไว้ในหนังสือตั้งค่าสมองฯของRoger Seip หาอ่านได้ครับ)
11.2 การท่องตัวบทให้เริ่มต้นโดยพูดออกเสียงตามสิ่งที่จำได้ แล้วนำไปเทียบกับถ้อยคำในตัวบท ถ้อยคำไหนที่สำคัญและไม่ได้พูดออกเสียงไว้(จำไม่ได้) ให้เอาปากกาไฮท์ไลท์ไว้ในตัวบท และให้กลับไปทำตามข้อ 11.1ในถ้อยคำที่จำไม่ได้ดังกล่าว
11.3 เมื่อทำครบถ้วนตามข้อ11.2แล้ว ให้ลองนำมาเขียนลงในสมุดทั้งหมด แล้วตรวจดูว่าจำได้ทั้งหมดแล้วหรือไม่ ถ้อยคำใดที่ยังจำไม่ได้ ให้กลับไปทำตามข้อ 8.1
12.ทำข้อสอบเก่า ให้ลองทำข้อสอบเก่าโดยไม่ดูธงคำตอบก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าเรายังผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องในส่วนไหน แล้วให้ตรวจสมุดคำตอบของเรากับธงคำตอบ เมื่อพบข้อบกพร่องให้โน๊ตข้อบกพร่องเตือนตัวเองในแต่ละข้อไว้ เมื่อทำข้อสอบครบทั้งหมด ให้กลับไปอ่านดูข้อบกพร่องที่ตัวเองเขียนไว้ แล้วนำมาแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนถึงวันสอบ”